ตำรวจไซเบอร์ ฝากเตือนภัยมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า)และเปิดซิม
โทรศัพท์มือถือเพื่อไปใช้ในการกระทำผิด มีโทษตามกฎหมาย
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า)และเปิดซิมโทรศัพท์มือถือเพื่อไปใช้ในการกระทำผิด
จากกรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ย.65 บช.สอท. ได้เปิดยุทธการ “หักซิมม้า” ตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 4 จุด และสามารถจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และ กรณีเมื่อวันที่ 14 พ.ย.65 คุณครูพร้อมผู้ปกครองโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จว.สุพรรณบุรี ได้พานักเรียนจำนวน 8 ราย ไปแจ้งความกับ พนักงานสอบสวน สภ.อู่ทอง ซึ่งเกรงว่าอาจถูกหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคารและเปิดลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือไปใช้ในทางมิชอบ โดยได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 500 บาท
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคารลงทะเบียนเปิดซิมโทรศัพท์มือถือไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
การกระทำดังกล่าว อาจมีความผิดฐานเป็นตัวการหรือให้การสนับสนุนในการกระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน ” ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ “ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพบว่า ส่วนมากผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นแค่เพียงเจ้าของบัญชีซึ่งรับจ้างเปิดบัญชี หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “บัญชีม้า” ส่งผลให้พยานหลักฐานที่จะสืบสวนไปยังผู้กระทำผิดตัวจริงอาจไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบันมีความซับซ้อนที่มากขึ้น
ที่ผ่านมา บช.สอท. ตรวจสอบพบว่านอกจากกลุ่มอาชญากรจะมีการซื้อบัญชีธนาคารจากบุคคลอื่นเพื่อนำไปใช้ในการกระทำความผิดหรือ ที่เรียกกันว่า “บัญชีม้า” แล้ว ยังพบว่ามีการชักชวนให้ประชาชนเปิดซิมหรือจดทะเบียนโทรศัพท์มือถือเพื่อขายให้กับกลุ่มอาชญากรอีกด้วย ซึ่งคนร้าย จะนำซิมการ์ดที่ได้ ไปใช้ในการกระทำความผิด เช่น ใช้โทรศัพท์ไปหลอกลวงเหยื่อ, ใช้ประกอบการเปิดระบบธนาคารออนไลน์หรือเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรอรับเงินโอนจากการหลอกลวงเหยื่อหรือรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิด, ใช้ผูกกับบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วนำไปใช้กระทำความผิด
พร้อมกันนี้ขอฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้กับประชาชน ดังต่อไปนี้
1.หากบัญชีธนาคาร หรือซิมโทรศัพท์มือถือ ที่ท่านให้บุคคลอื่นถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด ท่านอาจจะถูกดำเนินคดีในฐานะเป็น ตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด อีกทั้งหากท่านรับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือซิมม้า จำนวนมาก คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับโทษเพิ่มขึ้นตามจำนวนบัญชีธนาคารและซิมโทรศัพท์มือถือที่ท่านได้ให้บุคคลอื่นนำไปใช้ในการกระทำความผิด
2.กลุ่มที่คิดจะรับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร หรือ “บัญชีม้า” โดยเห็นแก่ค่าตอบแทนและประโยชน์ส่วนตน ให้บุคคลอื่นถูกนำบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิด อาจจะถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ซึ่งมีอัตราโทษทั้งปรับและจำคุก
3.นอกจากนี้หากพประชาชนเคยหลงเชื่อขายซิมโทรศัพท์มือถือ หรือบัญชีธนาคาร ให้กับบุคคลอื่นไปแล้ว ให้รีบไปติดต่อกับค่ายโทรศัพท์หรือธนาคารเพื่อขอยกเลิกหมายเลขโทรศัพท์หรือปิดบัญชีธนาคารดังกล่าวโดยเร็ว และหากพบเห็นการประกาศรับซื้อซิมโทรศัพท์มือถือหรือบัญชีธนาคาร
ทั้งนี้หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือ ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com